บทความ RFID

RFID เทคโนโลยีมีอนาคต
RFID เป็นระบบที่นำเอาคลื่นวิทยุมาเป็นคลื่นพาหะ เพื่อใช้ในการสื่อสารข้อมูลระหว่างอุปกรณ์สองชนิดที่มีมีลักษณะเป็นป้ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า แท็ก (RFID Tag) และตัวอ่านข้อมูล (Reader หรือ Interrogator) ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบไร้สาย (Wireless) โดยการนำข้อมูลที่ต้องการส่ง มาทำการมอดูเลต (Modulation) กับคลื่นวิทยุแล้วส่งออกผ่านทางสายอากาศที่อยู่ในตัวรับข้อมูล ดังแผนผังการทำงานของระบบ RFID

องค์ประกอบของระบบ RFID จะมีองค์ประกอบหลักๆ อยู่ 3 ส่วนด้วยกัน

1. Tags หรือ Transponders (Transmitter + Responder)

แท็ก (Tag) ใช้ติดกับวัตถุต่างๆ ที่เราต้องการ ประกอบไปด้วย ไมโครชิป (Microchip) ที่มีการบันทึกหมายเลข (ID) หรือข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุชิ้นนั้นๆ ซึ่งเชื่อมต่ออยู่กับลวดทองแดง (coupling element) ที่ทำหน้าที่เป็นเสาอากาศ ซึ่งจะถูกติดตั้งร่วมกันบนแผ่นพลาสติกเล็กๆ บางๆ ทำหน้าที่ส่งสัญญาณ หรือข้อมูลที่บันทึกอยู่ในแท็กตอบสนองไปที่ตัวอ่านข้อมูล เป็นการสื่อสารแบบไร้สายอากาศ โดยทั่วไปตัวป้าย RFID อาจอยู่ในรูปแบบที่เป็น กระดาษ แผ่นฟิล์ม พลาสติก มีขนาดและรูปร่างต่างๆ กันไป เช่น อาจมีขนาดใหญ่มากสำหรับใช้ติดกับรถยนต์ขณะทำการขนส่ง, ป้ายหรือฉลากสินค้า, บัตรเครดิต เหรียญ, กระดุม, แคปซูล หรือเล็กขนาดไส้ดินสอ (เพื่อฝังเข้าไปใต้ผิวหนังสัตว์) เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่จะนำเอาไปติด และการนำไปใช้งาน ไมโครชิปที่อยู่ในแท็กจะมีหน่วยความจำ ซึ่งอาจเป็นแบบอ่านได้อย่างเดียว (ROM) ใช้เก็บข้อมูลถาวร หรือทั้งอ่านทั้งเขียน (RAM) ใช้เก็บข้อมูลชั่วคราว นอกจากนี้อาจมีการนำหน่วยความจำแบบ EEPROM มาใช้ในกรณีต้องการเก็บข้อมูลในระหว่างที่แท็กและตัวอ่านข้อมูลทำการสื่อสาร และข้อมูลยังคงอยู่ถึงแม้จะไม่มีพลังงานไฟฟ้าป้อนให้แก่แท็ก

สำหรับป้าย RFID ที่มีใช้งานกันอยู่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่

? พาสซีฟ (passive tag) ทำงานโดยอาศัยพลังงานไฟฟ้าที่เกิดจากการเหนี่ยวนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากตัวอ่านข้อมูล ไม่มีแบตเตอรี่อยู่ภายใน จึงทำให้แท็กชนิดพาสซีฟมีน้ำหนักเบาและราคาถูกกว่าแบบ Active Tag มีหน่วยความจำขนาดเล็ก (ทั่วไปประมาณ 32 – 128 บิต) และมีอายุการใช้งานไม่จำกัด ข้อเสียก็คือ ระยะการรับส่งข้อมูลใกล้ (รัศมีไม่เกิน 3 เมตร) ต้องใช้เครื่องอ่านที่มีกำลังสูงและจะต้องมีความไวในการรับข้อมูลสูง มักจะมีปัญหาเมื่อนำไปใช้งานในสิ่งแวดล้อมที่มีสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวนสูงอีกด้วย แต่เป็นที่นิยมมาก

? แอ็กตีฟ (active tag) แท็กชนิดนี้จะมีแบตเตอรี่อยู่ภายใน เพื่อป้อนพลังงานไฟฟ้าให้แท็กทำงานโดยปกติ ทำให้สามารถรับ-ส่งสัญญาณข้อมูลกับ RFID Reader ได้ในระยะไกล สามารถทำงานในบริเวณที่มีสัญญาณรบกวนได้ดี และสามารถอ่านและเขียนข้อมูลลงใน Tag ชนิดนี้ได้ มีหน่วยความจำภายในขนาดใหญ่ได้ถึง 1 เมกะไบต์ เราจะสามารถทั้งอ่านและเขียนข้อมูลลงในแท็กชนิดนี้ได้ และอายุการใช้งานจำกัดตามอายุของแบตเตอรี่ เมื่อแบตเตอรี่หมดก็ต้องนำแท็กไปทิ้งไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เนื่องจากจะมีการ seal ที่ตัวแท็ก แท็กชนิดแอ็กทีฟนี้มีขนาดใหญ่กว่าแบบ Passive, อายุการใช้งานจำกัด, ราคาแพง, ไม่ต้องใช้เครื่องอ่านที่มีกำลังสูง และระยะการรับส่งข้อมูลไกลกว่าแท็กชนิดพาสซีฟ นอกจากนี้ยังทำงานในบริเวณที่มีสัญญาณรบกวนได้ดีแท็กอาจมีรูปร่างได้หลายแบบขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งาน อาทิเช่น

o Disk and Coin

o Plastic Housing

o Smart Label

o Coin on Chip

o Smart Card

o Other Format 

2. Reader หรือ Interrogator หน้าที่สำคัญของตัวอ่านข้อมูล (Reader) ก็คือ ตัวอ่านข้อมูล ทำหน้าที่เขียนหรืออ่านข้อมูลใน Tag ภายในเครื่องอ่านจะประกอบด้วย เสาอากาศที่ทำจากขดลวดทองแดง เพื่อใช้รับส่งสัญญาณ ภาครับและภาคส่งสัญญาณวิทยุ และวงจรควบคุมการอ่าน-เขียนข้อมูล โดยทั่วไปเครื่องอ่านจะประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก ดังนี้

• ภาครับและส่งสัญญาณวิทยุ

• ภาคสร้างสัญญาณพาหะ

• ขดลวดที่ทำหน้าที่เป็นสายอากาศ

• วงจรจูนสัญญาณ

• หน่วยประมวลผลข้อมูล

• ภาคติดต่อกับคอมพิวเตอร์

เพื่อส่งคลื่นความถี่วิทยุออกไปโดนแท็ก และรับข้อมูลที่ส่งมาจากแท็ก แล้วทำการตรวจสอบความผิดพลาดของข้อมูล ถอดรหัสข้อมูล และนำข้อมูลผ่านเข้าสู่กระบวนการต่อไป นอกจากนี้ตัวอ่านข้อมูลที่ดีต้องมีระบบป้องกันการอ่านข้อมูลจากแท็กที่ถูกวางทิ้งอยู่ในระยะการรับส่งซ้ำอยู่เรื่อยๆไม่สิ้นสุด (เรียกว่าระบบ “Hands Down Polling”) หรือตัวอ่านข้อมูลควรมีความสามารถที่จะจัดลำดับการอ่านแท็กทีละตัวได้ในกรณีที่มีแท็กหลายแท็กอยู่ในบริเวณสนามแม่เหล็กไฟฟ้าพร้อมกัน (เรียกว่า “Batch Reading”) ทั้งนี้ลักษณะ ขนาด และรูปร่างของเครื่องอ่านจะแตกต่างกันไปตามประเภทของการใช้งาน เช่น แบบมือถือขนาดเล็ก หรือติดผนัง จนไปถึงขนาดใหญ่เท่าประตู (gate size)

3. ระบบประยุกต์ใช้งาน ทั้งนี้รวมถึงระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ประยุกต์ใช้งาน รวมถึงระบบฐานข้อมูล หรือเรียกว่า มิดเดิลแวร์ (middleware) เช่น ระบบข้อมูลสินค้า ระบบบริหารงานบุคคล ฯลฯ

ปัจจุบันการประยุกต์ใช้งาน RFID ถูกประยุกต์ใช้งานหลากหลายด้าน ดังนี้

ด้านการค้าปลีก การผลิต การกระจายสินค้าและลอจิสติกส์

 บริษัทวอลล์มาร์ท และบริษัทจำหน่ายสินค้าปลีกชื่อดังได้นำชิพอัจฉริยะมาช่วยในการตรวจ นับสต็อกสินค้า ป้องกันการโจรกรรม และป้องกันการปลอมแปลงสินค้าของตนด้วย

 การซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อมีการคิดคำนวณราคารวม เครื่องอ่าน RFID สามารถคำนวณราคารวมภายในครั้งเดียวได้ทันที

 ในโรงงานโดยการติด Tag ไว้กับชิ้นงาน เมื่อชิ้นงานผ่านสายพานการผลิตในโรงงาน Reader จะส่งชิ้นงานเดินตามสายพานไปแต่ละแผนกเป็นขั้นตอนและต้องส่งงานไปยังสถานีถัดไป เดินสายลำเลียงสินค้าจัดวางตามชั้นต่างๆ ที่กำหนดไว้โดยอัตโนมัติ หรือใช้อ่านสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือ เมื่อเทียบท่าสามารถส่งคลื่นวิทยุเข้าไปอ่านข้อมูลสินค้าได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องเสียเวลาเปิดดูเรียกว่า secure trade หรือ operation safe commerce เพิ่มความปลอดภัยในการส่งสินค้าด้วย โดย Tag สามารถระบุและไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ว่าสินค้าเคยถูกเปิดเมื่อใด เป็นต้น

 เทคโนโลยีที่ใช้ในระบบ e-Seal สำหรับตู้สินค้า โดยการใช้ระบบปิดตู้สินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic seal)ปกป้องการขนถ่ายตู้สินค้า เพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งของที่บรรจุภายใน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปลายทาง โดยการใช้ “e-seal” ซึ่งเมื่อนำไปล็อคไว้ที่ประตูตู้สินค้าแล้ว สามารถเช็คสถานะของการขนส่งตู้สินค้าได้ว่าอยู่ที่ใด และหากมีการเปิดตู้ก่อนถึงจุดหมายปลายทาง “e-seal” ก็จะส่งสัญญาณวิทยุแจ้งเตือนไปยังระบบติดตามตู้สินค้าได้ทันทีอย่างรวดเร็วลดค่าใช้จ่ายทางด้านระบบศุลกากร/ตรวจสอบ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่ง ซึ่งรวมถึง การลดระยะเวลาที่ใช้ และการลดการสูญหายหรือสับเปลี่ยน ลดค่าใช้จ่ายด้าน Overhead ต่างๆ เช่น ค่าล่วงเวลาพนักงาน เป็นต้น

 บริษัท Ford Motor ใช้ RFID ในโรงงาน Essex ที่ Windsor Ontario เพื่อควบคุมและตรวจสอบข้อมูลในระหว่างการผลิต ในการทำงานของเครื่องจักร

 ติด RFID เข้ากับสินค้าที่จัดส่ง โดยลูกค้าสามารถเข้าไป Update ใน Website ได้ว่าสินค้าที่ตนส่งนั้นปัจจุบันอยู่ที่ใดของโลก

 การขนสินค้าเข้าโรงงาน ทันทีที่รถบรรทุกขับผ่านจุดอ่านข้อมูลสต๊อกทั้งหมดก็จะถูกบันทึกทันทีรวดเร็ว และไม่ยุ่งยากกว่าในรถยนต์หรือเครื่องบิน 

 RFID ถูกนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมอันตรายซึ่งไม่เหมาะกับการปฏิบัติงานของมนุษย์ เช่น ในสถานที่สกปรก หรือมีสารพิษสารเคมีในระดับอันตราย

 โรงกลั่นน้ำมันและแก๊สของ U.K.ใช้ระบบ Asset Management System โดยใช้ RFID เพื่อดูข้อมูลของระดับ Pressure Safety ในท่อส่งและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งระบบนี้ถูกพัฒนาโดย Oasis(Inverurie, U.K.) เพื่อใช้ในสภาพแวดล้อมที่อันตราย

ด้านการแพทย์และช่วยเหลือคนพิการ

 มีการติดตั้งระบบ RFID ใช้กับเครื่องมือแพทย์ที่มีราคาแพง ในโรงพยาบาล เนื่องจากโรงพยาบาลมีเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถจะได้รู้ว่าเครื่องมือแพทย์ชนิดต่างๆ อยู่ในตำแหน่งไหน มีสภาพการใช้งานอย่างไร เพื่อจะได้หยิบใช้ได้ทันท่วงที

 ติด RFID ให้กับผู้ป่วยที่เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลทุกคน เก็บข้อมูล ชื่อ อายุ โรค การรักษา ห้อง เบอร์โทรที่ติดต่อได้ และอื่นๆ ใช้เพื่อติดตามเด็กๆ ผู้ป่วยที่เป็นโรคความจำเสื่อม (Alzheimer) และบุคคลที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เพื่อป้องกันการหายตัวลึกลับของผู้ป่วย รวมไปถึงหากผู้ป่วยไปล้มแล้วหมดสติที่ไหนก็จะสามารถช่วยได้ทัน

 นำไปใช้กับระบบรักษาความปลอดภัยในแผนกทารกแรกเกิด เพื่อป้องกันเด็กพลัดกัน หรือแอบขโมย สลับตัว ฯลฯ

 นำระบบ RFID มาใช้กับการจัดการด้านยาและเวชภัณฑ์การติด Tag ที่ยาหรือเวชภัณฑ์ทำให้ทราบรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับยาชนิดนั้น เช่นวันผลิต วันหมดอายุ หรือทราบจำนวนที่เหลือในคงคลัง เจ้าหน้าที่ไม่ต้องคอยจำหรือดูบันทึก ซึ่งบางครั้งก็เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ ทำให้ระบบมีความถูกต้องแม่นยำขึ้น และสามารถบริหารระบบคงคลังได้ดีขึ้น จึงลดต้นทุนในส่วนนี้ลงได้

 มีการใช้ RFID ในสุขภัณฑ์ยา โดยมี Reader ขนาดพกพา ให้ผู้ป่วยที่ตาบอด สามารถถือ Reader มือถืออ่าน Tag ที่ขวดยาและ Reader อ่านออกเสียงให้คนตาบอดทราบได้ว่า เป็นยาอะไร

ด้านการเกษตรกรรมและปศุสัตว์

 ระบบ Animal Tracking มาใช้ในการพัฒนาด้านปศุสัตว์ให้เป็นระบบฟาร์มออโตเมชัน ด้วยชิป RFID ติดตัวสัตว์เลี้ยง ติดที่หู หรือให้กินเข้าไปฝังใน ซึ่งมีข้อมูลเฉพาะของสัตว์แต่ละตัว เช่น วันเกิด ประวัติทางการรักษาพยาบาล การเคลื่อนย้ายมาจากปศุสัตว์อื่น และผลของการตรวจหาเชื้อโรคไว้ที่ตัวสัตว์ ทำให้สามารถ ตรวจสอบสายพันธุ์ การให้อาหาร วันที่ฉีดยา และการควบคุมโรคติดต่อในสัตว์ได้ รวมถึงการใช้งานสำหรับทำการตรวจย้อนกลับแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Traceability)


 ชิปประจำตัวในสัตว์เลี้ยง ใช้บอกตัวตนของสัตว์ เช่น สุนัขและแมว เพื่อใช้ยืนยัน ตามหาเจ้าของ หรือใช้ในการรับรองสายพันธุ์เพื่อใช้ในการซื้อขาย

การเข้า-ออกอาคาร (Access Control / Personal Identification)

 บัตรแบบ RFID ไม่มีการสัมผัสเหมือนบัตรเสียบ Smart card เนื่องบัตรแถบแม่เหล็กเมื่อมีการใช้งานนานจะมีการชำรุดสูง และเครื่อง RFID สามารถอ่านข้อมูลระยะไกลเพียง แค่เดินผ่านก็สามารถเปิดปิดประตูอัตโนมัติได้

 นำระบบ RFID มาใช้ในการแสดงตัวของบุคลากร เพื่อทำการบันทึกว่าวันนี้มาทำงานไหม มาทำงานเวลาไหน เลิกงานเวลาไหน เพื่อที่จะได้รู้ว่าใครใช้ห้องไหนในเวลาไหนบ้าง เพื่อที่จะเก็บสถิติ และหากมีสิ่งของเสียหายจะได้หาตัวผู้กระทำความผิดได้

ระบบการเดินทางขนส่ง

 การนำไปใช้กับ Smart Card ซึ่งเป็นที่นิยมใน เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์โดยเฉพาะการนำไปใช้กับรถไฟใต้ดิน รถเมล์ และขนส่งมวลชนประเภทต่างๆ ใช้กับ บัตรทางด่วน บัตรรถไฟฟ้าใต้ดิน ถ้าบัตรทางด่วนรายเดือนใช้ด้วยจะช่วยประหยัดเวลาในการต่อคิวชำระเงิน หรือประยุกต์ตัดบัตรเครดิต

 ใช้ RFID กับหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-passport) เพื่อป้องกันผู้ก่อการร้ายหรือใช้งานสำหรับด้าน E-citizen ด้วย ทั่วโลกใช้กันแล้ว

 ระบบรักษาความปลอดภัยและใช้งานในการติดตามสัมภาระสำหรับการเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารโดยฝังไปกับบัตรโดยสาร (Boarding Pass) ซึ่งจะทำให้ระบบการตรวจเอกสารสำหรับการเดินทางโดยเครื่องบินสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ซึ่งจะลดขั้นตอนต่างๆลงได้อย่างมาก

 การใช้งานทางการขนส่งและการรักษาระบบความปลอดภัย เช่น สายการบินใช้ RFID ในการบิน โดยติดชิปบนกระเป๋าของผู้โดยสาร ทั้งนี้เพื่อลดปัญหากระเป๋าสูญหาย และจะเพิ่มความสะดวกสบายเมื่อผู้โดยสารต้องการจะเปลี่ยนเที่ยวบิน

 สนามบินสุวรรณภูมิ มีโครงการนำ RFID มาใช้ในการแยกสินค้าของสนามบิน

ระบบการบริการ

 ด้านการเงิน Visa บัตรอัจฉริยะที่รวมเอาชิปRFID เข้าไว้ในบัตร ทำให้ผู้ใช้บัตรสามารถใช้บัตร Visa จ่ายค่าจอดรถ ซื้อหนังสือพิมพ์ รับสินค้าจากเครื่องให้บริการอัตโนมัติได้โดยไม่ต้องเปิดกระเป๋าเงิน

 ธนาคารกลางยุโรปมีแผนจะฝังชิป RFID แบบสมองกลไว้ในธนบัตรยูโรอีกด้วย

 ในอุตสาหกรรมบริการ คือ บ่อนกาสิโน (CASINO) โดยนำแผ่น RFID ฝังลงในชิพส์ (CHIPS) แทนเงิน ซึ่งจะมีประโยชน์ ดังนี้คือ ป้องกันการนำแผ่นชิพส์ (แทนเงิน) ปลอมมาใช้ ซึ่งทำให้บ่อนเสียประโยชน์อย่างมาก และเป็นปัญหาสำคัญของบ่อนกาสิโนทั่วโลก นอกจากนั้นแล้ว ยังมีประโยชน์ในการศึกษา พฤติกรรมของนักพนัน เพื่อจะนำไปวิเคราะห์ศึกษา เหมือนกับการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ทางบ่อนจะได้หาทางเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ

 ระบบห้องสมุดในการยืมหรือคืนหนังสืออัตโนมัติ ทำให้ผู้ใช้บริการได้รวดเร็วและสะดวกสบายยิ่งขึ้น

ระบบรักษาความปลอดภัย

 สายการบิน Delta Airlines จะเป็นสายการบินแรก ที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับสัมภาระของผู้โดยสาร ซึ่งทาง IATA ก็ได้ให้การสนับสนุนเต็มที่ หรือ สายการบิน Northwest Airlines ใช้เป็นระบบรักษาความปลอดภัยในการตรวจสอบวัตถุระเบิดจากกระเป๋าสัมภาระ โดยใช้เครื่องสแกนระบบ RFID ที่ Seattle-Tacoma International Airport

 กุญแจอิเล็กทรอนิกส์ (Immobilizer) ในรถยนต์ ป้องกันการใช้กุญแจผิด และในการขโมยรถยนต์ (Smart Key entry) พวก Keyless ในรถยนต์ราคาแพงบางรุ่นก็เริ่มนำมาใช้งานแล้ว นอกจากฟันเฟืองกุญแจเข้ากันได้แล้ว ต้องมี Tag ฝังในตัวลูกกุญแจเพื่อจำกันได้ด้วย

 ในวงการทหาร กระทรวงกลาโหมอเมริกัน ใช้งบประมาณ 11,000 ล้านบาท พัฒนาการนำอุปกรณ์ RFID มาใช้ติดตามการขนส่งอาวุธ เพื่อป้องกันการโจรกรรม และการนำไปใช้ในสถานที่อันไม่สมควร

ระบบป้องกันการพลัดหลง, การลักพาตัว

? นำเอาชิพ มาติดตั้งกับเสื้อผ้าและกระเป๋าของเด็กนักเรียน เพื่อการติดตาม ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะป้องกันอันตรายให้กับเด็ก

? แม้แต่ร่างกายของมนุษย์ บริษัท Applied Digital Solution ได้เริ่มออกแบบชิป RFID ที่เรียกว่า “Verichip” ซึ่งมีขนาดเล็กเท่าเมล็ดข้าว ใช้ฉีดเข้าไปในตัวมนุษย์ อยู่ภายใต้ผิวหนัง เพื่อใช้ในการติดตามตัวและช่วยเหลือผู้ถูกลักพาตัว โดยใช้ร่วมกับเทคโนโลยี GPS ซึ่งสามารถตรวจจับสัญญาณได้ทันที เพียงแค่เดินผ่านจุดตรวจและส่งสัญญาณไปยังตำรวจ ขณะนี้ได้ทดลองใช้แล้วในประเทศเม็กซิโก และสมาคมชายหาดในบาร์เซโลนา

สรุป

การพัฒนาระบบ RFID เพื่อมาเสริมจุดอ่อนต่างๆ ของระบบอื่น เช่น ระบบบาร์โค้ด เครื่องอ่านข้อมูล RFID อาจอยู่ห่างออกไปหลายเมตร ไม่ต้องผ่านเครื่องอ่านในระยะใกล้ สามารถบรรจุข้อมูลได้มากพอที่จะใช้อ้างอิงรายละเอียดต่างๆ ในการผลิต การอ่านข้อมูลทำได้รวดเร็ว เมื่ออ่านได้จากระยะไกลและยังส่งผ่านข้อมูลเข้าสู่อินเทอร์เน็ตได้ RFID จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของการเลือกสินค้าจากสินค้าจากอีกซีกโลกหนึ่งให้คนอีกซีกโลก

ในประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้เทคโนโลยี RFID ในหลากหลายด้านทั้งใช้ในด้านการขนส่ง ด้านการปศุสัตว์ ใช้กับเอกสารราชการ บัตรประชาชน หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ การควบคุมการเข้าออกสถานที่ การใช้ RFID เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้าน Logistics โดยใช้ผนึกอิเล็กทรอนิกส์ติด RFID ปิดล็อคตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อสะดวกในการติดตาม บริหารจัดการการขนส่ง ด้านการแพทย์ หรือแม้แต่ด้านการเงินสามารถที่จะจ่ายเครดิตได้โดยไม่ต้องเปิดกระเป๋าหยิบบัตรเครดิต หรือเงิน ได้มีการนำ RFID มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสร้างความพึงพอใจในการให้บริการแก่ผู้ใช้ในด้านของความสะดวก รวดเร็ว

ปัญหาของ RFID ที่ยังจะมีอยู่บ้างก็คือ ไม่สามารถตรวจสอบไม่ได้เมื่อสินค้าอยู่นอกคลื่นความถี่วิทยุ หรือใช้งานข้ามระบบความถี่ได้ ราคาของแท๊ก ป้ายบันทึกข้อมูล ที่ยังมีราคาสูง ความน่าเชื่อถือของป้าย การรบกวนของสัญญาณอื่นๆ ยังไม่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระเบียบการใช้คลื่นความถี่วิทยุและกำลังส่งของแต่ละประเทศ

สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นความกังวล คือ การใช้ RFID ฝังตัวในสินค้าจะทำลายความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค (สูญเสีย Privacy) ลง จนอาจจะเกิดการล้ำสิทธิมนุษยชนขึ้นได้ เช่น รัฐโอกลาโฮม่า มีการพบว่ามีการใช้ RFID ฝังไว้ในลิปสติก ทันทีที่ลูกค้าหยิบสินค้าลงมาจากชั้น ร้านก็สามารถส่งเป็นภาพทางโทรทัศน์ของการทดลองใช้และการตัดสินใจเลือกได้อย่างชัดเจนจากระยะทางไกลไปอีก 200 กิโลเมตร เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยการใช้ RFID โดยไม่บอกกล่าวเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม

ดังนั้นควรพิจารณาการนำเทคโนโลยี RFID มาใช้ให้ละเอียดในทุกแง่มุมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเทคโนโลยี มาตรฐานที่ใช้ อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับระบบ ค่าใช้จ่าย ผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการ ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ รวมทั้งรายละเอียดที่สำคัญเกี่ยวกับบริษัทผู้จัดจำหน่ายและบริการหลังการขายด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ได้ระบบที่สามารถตอบสนองการปฏิบัติงาน และความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างเต็มที่และคุ้มค่า

จากความสามารถต่างๆ ของ RFID ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย หากได้รับการพัฒนาราคาถูกลง และมาตรฐานอันเดียวกันทั่วโลกแล้ว อนาคตของ RFID นับว่าสดใสก้าวไก

Visitors: 170,069